ทันตกรรม – ศัลยกรรมช่องปาก


 ศัลยกรรมช่องปาก

การผ่าฟันคุด ฟันคุด คือ ฟันที่ไม่สามารถขึ้นมาอยู่ตำแหน่งปกติหรือขึ้นมาได้เพียงบางส่วน จะเกิดมากที่สุดกับฟันกรามซี่สุดท้าย ที่อยู่ในสุด โดยพบในคนอายุ 18 ปีขึ้นไป สาเหตุที่ฟันคุดขึ้นไม่ได้มีเนื่องมาจาก ฟันซี่ข้างเคียงกีดขวางการขึ้นของฟันคุด มีกระดูกหรือเหงือกคลุมฟันคุดอยู่หนาจนไม่สามารถโผล่ขึ้นมาได้ ในบางรายอาจไม่ทราบว่ามีฟันคุดหรือไม่ การเอ็กซเรย์รอบปากจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด ที่จะทราบได้ว่าท่านมีฟันคุดหรือไม่ แต่ถ้าฟันกรามซี่สุดท้ายที่ขึ้นมาได้เต็มซี่สามารถใช้งานได้ ไม่สร้างปัญหาใดตลอดจนสามารถทำความสะอาดได้ดี ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเอาออกค่ะ
โดยอายุที่เหมาะสมที่ควรเอาฟันคุดออก คือ อายุระหว่าง 16 – 25 ปี เพราะว่าจะทำให้เกิดผลเสียน้อย เนื่องจากเป็นช่วงที่รากของฟันยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ กระดูกขากรรไกรก็ยังไม่หนา การหายของแผลก็เป็นไปได้อย่างง่าย เป็นผลดีมากกว่าเอาออกเมื่อมีอายุมากกว่า

สาเหตุที่ต้องผ่า หรือถอนฟันคุดออก แม้จะยังไม่มีอาการใดๆ ก็ตาม เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้มีอาการดังต่อไปนี้

 ปวดฟัน เนื่องจากตัวฟันคุดเองมีแรงผลักเพื่อจะงอกขึ้นมาในขากรรไกร แต่ฟันซี่ข้างเคียงขวางการขึ้นของฟันคุด ทำให้มีแรงย้อนกลับไปกดที่เส้นประสาทของขากรรไกร จึงทำให้มีอาการปวด และบางครั้งอาจส่งผลไปยังบริเวณอื่นของ ใบหน้า เช่น ปวดหน้าหู ปวดตา ปวดศีรษะ เป็นต้น
 ฟันคุดจะดันฟันซี่ข้างเคียง ขึ้นได้ไม่เต็มซี่ฟันทำให้เศษอาหารติด ซึ่งควรพิจารณาผ่าฟันคุดออกเพื่อป้องกันฟันซี่ข้างเคียงผุ
 เหงือกอักเสบ เนื่องจากเศษอาหารที่ค้างอยู่ใต้เหงือกที่คลุมฟันอยู่นั้นเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรียที่ยากต่อการทำความสะอาด ซึ่งทำให้ง่ายต่อการเกิดเหงือกอักเสบและบวมได้
 มีปัญหาจากโรคปริทันต์ เพราะการมีฟันคุดทำให้มีการสูญเสียกระดูกเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดโรคปริทันต์ของฟันข้างเคียงได้
 แรงดันของฟันคุด มากพอที่จะผลักให้ฟันข้างเคียงรับกระทบต่อๆ กันไปจนฟันบิดซ้อนกันได้ ซึ่งในการจัดฟัน บางครั้ง ทันตแพทย์จะแนะนำให้เอาฟันคุดออกก่อนใส่หรือติดเครื่องมือจัดฟัน
 ฟันคุดทำให้ติดเชื้อได้ และการติดเชื้อจากฟันคุด มักจะทำให้ขากรรไกรบวม มีอาการบวมบริเวณแก้ม ใต้คางหรือใต้ลิ้น และ อาจส่งผลให้อ้าปากได้จำกัดได้
 ฟันคุดมีโอกาสทำให้เกิดถุงน้ำในกระดูกขากรรไกร ส่งผลให้ใบหน้าเอียงหรือขากรรไกรข้างหนึ่งใหญ่กว่าอีกข้างได้

การผ่าฟันคุดสามารถทำได้ภายใต้การฉีดยาชาเฉพาะที่ การผ่าฟันคุดแต่ละซี่ใช้เวลาประมาณ 15-45 นาที ขึ้นกับความยากง่าย และความพร้อมของผู้ป่วย แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยที่กลัวและไม่ให้ความร่วมมือ อาจพิจารณาทำภายใต้การดมยาสลบ ซึ่งต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป โดยปกติทันตแพทย์จะแนะนำให้ถอนฟันคู่สบออกไปพร้อมกัน นื่องจากฟันคู่สบมักสร้างปัญหาให้เกิดการอักเสบมากขึ้นเพราะคอยกัดกระแทกบริเวณแผลอยู่ตลอด ฟันคุดเป็นเรื่องที่ป้องกันและรักษาได้ โดยจะมีปัญหาแทรกซ้อนน้อยที่สุดถ้าผู้ป่วยมาพบทันตแพทย์ในเวลาที่เหมาะสมค่ะ