ทันตกรรมทั่วไป – อุดฟัน

 การอุดฟัน

คือวิธีการรักษาฟันที่ถูกทำลายจากการผุ หรือสึก ให้กลับมาสามารถใช้งานได้ โดยทันตแพทย์กรอเนื้อฟันที่ผุซึ่งจะมีการติดเชื้อออก ทำความสะอาด จากนั้นจึงเติมวัสดุอุดฟันลงไป การอุดฟันสามารถช่วยป้องกันการผุเพิ่มขึ้นด้วยการปิดช่องทางที่แบคทีเรียสามารถเข้าไปได้ โดยก่อนที่จะทำการอุดฟันทันตแพทย์จะทำการตรวจฟันดูก่อนค่ะ

 ในกรณีที่ฟันผุลึกมาก ทันตแพทย์จะทำการเอ็กซเรย์ดูก่อนว่า มีการผุลุกลามเข้าไปในโพรงประสาทฟัน หรือไม่ ถ้ามีการผุลุกลามเข้าไปในโพรงประสาทฟัน จะไม่สามารถรักษาโดยการอุดฟันได้

 ทันตแพทย์จะพิจารณาดูว่าเนื้อฟันส่วนที่เหลือมีเพียงพอต่อการยึดของวัสดุที่ใช้ในการอุดหรือไม่ ในกรณีที่ฟันผุ หรือแตกขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ที่ทันตแพทย์พิจารณาแล้วว่าเนื้อฟันไม่เพียงพอต่อการยึดติดด้วยวัสดุดังกล่าวข้างต้น เนื่องจากอาจมีโอกาสที่วัสดุอุดแตกสูง แต่เนื้อฟันก็ต้องมีเหลือมากพอที่ไม่ต้องถึงกับต้องทำครอบฟัน การบูรณะด้วยอินเลย์และออนเลย์เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง โดยวัสดุที่นิยมใช้มีเซรามิกซึ่งมีสีเหมือนฟัน และโลหะที่มีทองเป็นส่วนผสม โดยหลังจากกรอแต่งเสร็จแล้ว ทันตแพทย์จะพิมพ์ปากเพื่อส่งทำชิ้นงานในห้องปฏิบติการ และนำมายึดติดกับฟันด้วยซีเมนต์

ประเภทของวัสดุอุดฟัน

 วัสดุอุดฟันสีเงิน (Amalgam) เหมาะกับการบูรณะฟันหลังบริเวณที่มีการรับแรงบดเคี้ยวสูง อย่างไรก็ตามเนื่องจากวัสดุนี้มีสีเข้มจึงมองเห็นได้ชัดและไม่นิยมเลือกใช้กับบริเวณที่เห็นได้ง่าย ภายหลังการอุดฟัน ไม่ควรเคี้ยวอาหารด้านที่อุดฟันเป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมง เนื่องจากวัสดุที่ใช้ยังมีความแข็งแรงไม่เต็มที่

 วัสดุอุดฟันสีเหมือนฟัน (Composite Resin) เป็นวัสดุที่มีความสวยงามเป็นธรรมชาติเหมาะกับการบูรณะฟันหน้าที่ต้องการความสวยงาม ปัจจุบันได้มีการพัฒนาวัสดุให้มีความแข็งแรงทนทานมากขึ้นทนต่อแรงบดเคี้ยวได้ดีสามารถนำมาใช้บูรณะในฟันหลังได้ ผู้รับบริการที่อุดฟันหน้าไม่ควรใช้ฟันหน้าเคี้ยวอาหารที่แข็ง เพราะจะทำให้วัสดุที่อุดแตกได้


ในกรณีที่มีฟันผุลึกผู้ที่ได้รับการอุดฟัน อาจจะมีการเสียวฟันภายหลังการอุดฟัน จึงควรงดอาหารที่ร้อนจัดและเย็นจัด ซึ่งโดยปกติแล้วอาการเสียวฟันจะลดลงภายใน 2-3 สัปดาห์ ในกรณีที่หลังจากที่อุดฟันแล้ว 1 เดือนแล้วผู้ป่วยยังมีอาการเสียวฟันอยู่ ควรกลับมาพบทันตแพทย์เพื่อทำการแก้ไขต่อไป